คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ เน้นการเรียนการสอนแบบรู้จริง ทำเป็น เดินหน้าวิจัยเตรียมความพร้อมการจัดการเรียนการสอนแบบไฮบริดปีหน้า
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (Thammasat Business School – TBS) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถือเป็นหลักสูตรที่เก่าแก่ในประเทศไทย ผลิตคนป้อนตลาดแรงงานให้มีการคิดวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ และพยายามผลักดันให้นักศึกษามีความรู้รอบด้าน ผ่านหลักสูตรที่มีมาตรฐานระดับโลกจาก 3 สถาบัน ได้แก่ AACSB, EQUIS และ AMBA
ช่วงที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ (โควิด-19) แพร่ระบาด และมีการล็อคดาวน์ในประเทศไทย ทางคณะฯ สามารถจัดการเรียนการสอนท่ามกลางอุปสรรคได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ตั้งเป้าปรับรูปแบบการเรียนการสอนปี 2564 เป็นแบบไฮบริด เพื่อความพร้อมในการรองรับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
“รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์” คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พยายามสร้างระบบนิเวศของ TBS ให้สอดคล้องกับพลวัตของเทคโนโลยีและโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากการเรียนรู้ในห้องเรียนแล้ว นักศึกษาจำเป็นต้องมีประสบการณ์ตรงด้วยการเรียนรู้เรื่องธุรกิจจากผู้ประกอบการจริง จึงจะสามารถพัฒนา soft skills สําหรับการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่รู้จริงทำเป็น
“เราปรับหลักสูตรในทุกระดับของ TBS ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางธุรกิจในยุค disruption ที่ต้องมีความยืดหยุ่นและความรวดเร็วในการปรับเปลี่ยน โดยยึดหลักแนวคิด we will never walk alone ซึ่งหมายถึง การศึกษาต้องไม่พึ่งพิงเรื่องวิชาการอย่างเดียว แต่ต้องเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ ทั้ง 2 ส่วนนี้ต้องเดินไปพร้อม ๆ กัน โดยสัดส่วนการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในทุกหลักสูตรต้องไม่น้อยกว่า 30%”
“รศ.ดร.รุธิร์” อธิบายต่อว่า ปัจจุบันในคณะฯมีนักศึกษาทั้งหลักสูตรภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ปริญญาตรีแต่ละชั้นปีประมาณ 650 คน ปริญญาโทและเอก 1,400 คน โดยสาขาที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันยังคงเป็นการเงินและการตลาด
“ผมรับตำแหน่งคณบดีเมื่อพฤศจิกายน 2562 และหลังจากนั้นไม่กี่เดือนต้องพบกับวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจทั่วโลกประสบปัญหา ภาคการศึกษาก็เช่นกัน ในช่วงมีนาคม 2563 เราทำการปิดการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัย แล้วเปลี่ยนเป็นแบบออนไลน์ มีบ้างที่เจอปัญหาอาจารย์ไม่พร้อม นักศึกษาไม่พร้อม ระบบอินเตอร์เน็ตไม่ดี แต่เราก็ดำเนินการสอนมาได้จนหมดเทอม”
แม้ว่าการเรียนออนไลน์จะเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับทั้งอาจารย์และนักศึกษา แต่ผมมองว่าสามารถนำมาปรับใช้กับการเรียนการสอนในอนาคตได้ จึงมองโมเดลจัดการเรียนการสอบแบบไฮบริดเอาไว้ คือส่วนหนึ่งเรียนออนไลน์ และอีกส่วนมาเรียนในห้องเรียน
โดยคณะกรรมการดิจิทัลในปีการศึกษา 2563 จะทำการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อน เพื่อพิสูจน์ว่าการเรียนการสอนออนไลน์ของคณะฯให้ผลที่ไม่ต่างจากการเรียนการสอนปกติ หากผลเป็นเช่นนั้นในปีการศึกษา 2564 จะมีการจัดการเรียนการสอนบางวิชาเป็นออนไลน์ เช่น วิชาพื้นฐาน เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถเรียนผสมผสานแบบ 2 รูปแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ